วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความเป็นมาของเครื่องดนตรีไทย

        เรามาดูความเป็นมาของเครื่องดนตรีไทยกันก่อนเลยน่ะค่ะว่าเครื่องดนตรีต่างๆก่อนจะมาเป็นเครื่องดนตรีให้เรารู้จักนั้นเริ่มมาจากไหน        

   
        ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของการรวมและสร้างชาติต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เผ่าพันธุ์ของแต่ละกลุ่มชนบนคาบสมุทรอินโดจีน ประกอบด้วยชนชาติไทย ลาว พม่า มอญ กัมพูชา มลายู กลุ่มชาติเหล่านี้ต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมีอำนาจทางการเมือง การปกครอง จนบางครั้งถึงขั้นทำสงครามสู้รบกัน การโยกย้ายพลเมืองจึงเกิดขึ้นเสมอ การตั้งถิ่นฐานใหม่ของพลเมืองบางกลุ่มยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ และสืบทอดมายังลูกหลาน โดยเฉพาะงานด้านศิลปะการดนตรีที่ยังมีใช้และเล่นในกลุ่มของตน ในขณะเดียวกันก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มชนรอบข้างที่มีการติดต่อด้วย เป็นเหตุปัจจัยให้ศิลปะวัฒนธรรมของพลเมืองแต่ละกลุ่มเกิดการแพร่กระจาย เกิดการเรียนรู้และนำสิ่งที่พบเห็นมาปรับปรุงให้เข้ากับความต้องการของตน โดยพบว่าเครื่องดนตรีที่ชาวไทย ลาว กัมพูชา พม่า ใช้ประสมวงเล่นกันในปัจจุบันมีหลายชนิดที่เหมือนกัน เช่น ปี่ ระนาด ฆ้อง กลอง เป็นต้น

        นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาและการค้าขายก็เป็นส่วนหนึ่งของการรับและนำศิลปะการดนตรีเข้ามาสู่สังคมไทยด้วย โดยมีการนำเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ และกิจพิธีต่างๆเข้ามา เช่น เครื่องดนตรีประเภทบัณเฑาะว์ สังข์ รับมาจากอินเดีย ซอด้วง ซออู้ รับเข้ามาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับจีน เมื่อติดต่อกับชาวชวา ได้กลองชวา กลองแขก ปี่ชวา เมื่อติดต่อกับชาวมลายูได้กลองมลายู เมื่อติดต่อกับชาวฮอลันดาได้กลองวิลันดาเข้ามาใช้งาน เป็นต้น ดังนั้นยุคสมัยของราชอาณาจักรไทยก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีเครื่องดนตรีจำนวนมาก มีความหลากหลายทั้งในด้านรูปทรงของเครื่องดนตรี ระบบเสียง รูปแบบการบรรเลงเฉพาะเครื่อง และวิธีการนำมาใช้ประสมเป็นวงดนตรี

ประเภทของวงดนตรี

         เรามาดูกันดีกว่าค่ะมาเครื่องดนตรีไทย มีกี่ประเภทมีลักษณะอย่างไรบ้าง

        วงดนตรีไทย ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการบรรเลง มีความเป็นระเบียบแบบแผน มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักการประสมวง มีการพัฒนารูปแบบการบรรเลงเป็นระยะ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ


๑. วงปี่พาทย์

        วงปี่พาทย์ หมายถึง  วงดนตรีที่เกิดจากการประสมวงกันระหว่างเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าและเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเป็นหลัก แบ่งออกเป็น ๓ ขนาด ดังนี้


        ๑.๑ วงปี่พาทย์เครื่องห้า  วงดนตรีประเภทนี้มีการประสมวงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ประกอบด้วย  ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง


        ๑.๒ วงปี่พาทย์เครื่องคู่  วงดนตรีประเภทนี้เกิดการประสมวงครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย ปี่ใน ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่ง


        ๑.๓ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่  วงดนตรีประเภทนี้เกิดการประสมวงครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย ปี่ใน ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก  ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กรับ และโหม่ง


วงเครื่องสายไทย
        วงเครื่องสายไทยเป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทที่มีสายเป็นหลัก ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆที่ประสมในวงเครื่องสาย นิยมใช้เครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงที่มีความกลมกลืนสอดคล้องกับเครื่องดนตรีอื่นๆในวง แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ดังนี้


        ๒.๑ วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยวหรือวงเครื่องสายวงเล็ก  เครื่องดนตรีประกอบด้วยซอด้วง ๑ คัน  ซออู้ ๑ คัน  จะเข้ ๑ ตัว  ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา  โทน-รำมะนา ๑ สำรับ  ฉิ่ง ๑ คู่  และฉาบเล็ก ๑ คู่


         ๒.๒ วงเครื่องสายเครื่องคู่  เครื่องดนตรีประกอบด้วย ซอด้วง ๒ คัน  ซออู้ ๒ คัน  จะเข้ ๒ ตัว  ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา  ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา  โทน-รำมะนา ๑ สำรับ  ฉิ่ง ๑ คู่  ฉาบเล็ก ๑ คู่  กรับ ๑ คู่  และโหม่ง ๑ ใบ


วงมโหรี
        วงมโหรีเป็นวงที่มีเครื่องดนตรีประสมวงครบทุกกลุ่ม คือ เครื่องดีด สี ตี และเป่า ลักษณะเด่นของวง  ดนตรีประเภทนี้ คือ ความกลมกลืนของระบบเสียงที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่ถูกย่อสัดส่วน สำหรับฆ้องวงที่ประสมในวงดนตรีประเภทนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฆ้องมโหรี การปรับลดขนาดเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเพราะต้องการให้ระบบเสียงมีความดังที่เข้ากันได้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย วงมโหรีมีการประสมวงและถือเป็นแบบแผนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำแนกออกเป็น ๓ ขนาด ดังนี้



        ๓.๑ วงมโหรีเครื่องเดี่ยว  เครื่องดนตรีประกอบด้วย ซอสามสาย ๑ คัน  ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา  ระนาดเอก ๑ ราง  ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง  จะเข้ ๑ ตัว  ซอด้วง ๑ คัน  ซออู้ ๑ คัน  โทน-รำมะนา ๑ สำรับ  ฉิ่ง ๑ คู่


        ๓.๒ วงมโหรีเครื่องคู่  เครื่องดนตรีประกอบด้วยซอสามสาย ๑ คัน  ซอสามสายหลีบ ๑ คัน  ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา  ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา  ระนาดเอก ๑ ราง  ระนาดทุ้ม ๑ ราง  ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง  ฆ้องวงเล็ก ๑ วง  จะเข้ ๒ ตัว  ซอด้วง ๒ คัน  ซออู้ ๒ คัน  โทน-รำมะนา๑สำรับ  ฉิ่ง ๑ คู่  ฉาบเล็ก ๑ คู่  กรับ ๑ คู่  โหม่ง ๑ ใบ



        ๓.๓ วงมโหรีเครื่องใหญ่  เครื่องดนตรีประกอบด้วยซอสามสาย ๑ คัน  ซอสามสายหลีบ ๑ คัน  ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา  ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา  ระนาดเอกมโหรี ๑ ราง  ระนาดทุ้มมโหรี ๑ ราง  ระนาดเอกเหล็กมโหรี ๑ ราง  ระนาดทุ้มเหล็กมโหรี ๑ ราง  ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง  ฆ้องวงเล็ก ๑ วง  จะเข้ ๒ ตัว  ซอด้วง ๒ คัน  ซออู้ ๒ คัน  โทน-รำมะนา ๑ สำรับ  ฉิ่ง ๑ คู่  ฉาบเล็ก ๑ คู่  กรับ ๑ คู่  โหม่ง ๑ ใบ

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะของวงดนตรีไทยพื้นบ้าน

        เรามารู้จักลักษณะของวงดนตรีไทยพื้นบ้านกันเลยค่ะว่าแต่ละภาคนั้นเขาใช้เครื่องดนตรีประเภทใดบ้าง
    
        วงดนตรีพื้นบ้าน เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงในแต่ละท้องถิ่น เป็นกิจกรรมที่มีบทบาทอยู่เฉพาะในวิถีชีวิตของสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ ซึ่งวงดนตรีพื้นบ้านในแต่ละภาคที่ควรรู้จัก มีดังนี้
                 
         ๑.วงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ ประกอบไปด้วยวงกลองแอว วงสะล้อ-ซึง วงกลองมองเซิง วงกลองปูเจ่ วงปี่จุม ส่วนโอกาสที่ใช้ในการบรรเลงมีความแตกต่างกันไป อาทิ วงกลองแอว จะนิยมใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนเมือง วงกลองมองเซิง นิยมใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนมองเซิง
            เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือที่สำคัญๆ ได้แก่ พิณเปี๊ยะ ซึง สะล้อ ปี่จุม กลองแอว กลองสะบัดชัย กลองตะโล้ดโป๊ด เป็นต้น

        ๒.วงดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง ประกอบไปด้วยวงปี่พาทย์พื้นบ้าน วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ วงเครื่องสาย ส่วนโอกาสที่ใช้ในการบรรเลงมีความแตกต่างกันไป เช่น วงปี่พาทย์มอญและวงปี่พาทย์นางหงส์ นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ วงเครื่องสายนิยมใช้บรรเลงในงานมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น
            เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคกลางที่สำคัญๆ ได้แก่ จะเข้ ขลุ่ย ซออู้ ซอด้วง ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ปี่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ โหม่ง เป็นต้น

        ๓.วงดนตรีพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วยวงโปงลาง วงกันตรึม วงตุ้มโมง วงแคน โอกาสที่ใช้บรรเลงนิยมบรรเลงในงานแตกต่างกันไป เช่น ใช้ในการบรรเลงเพื่อประกอบการแสดงพื้นบ้านประเภทเซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสวิง ฟ้อนภูไท ส่วนวงตุ้มโมงใช้บรรเลงในงานศพ ซึ่งปัจจุบันหาดูและหาฟังได้ยาก
            เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญๆ ได้แก่ แคน โปงลาง พิณ   โหวด  ซอบั้งไฟ  ฆ้องหุ่ย หมากกับแก๊บ (กรับ)   เป็นต้น

        ๔.วงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ประกอบไปด้วยวงกาหลอ วงปี่พาทย์ชาตรี วงรองเง็ง วงโต๊ะครึม วงดนตรีโนห์รา วงดนตรีหนังตะลุง วงดนตรีซีละ วงดนตรีมะโย่ง วงดนตรีลิเกป่า โอกาสที่ใช้บรรเลงนิยมบรรเลงในงานแตกต่างกันไป เช่น วงกาหลอ ใช้บรรเลงในงานศพ วงดนตรีหนังตะลุง ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุงโนห์รา   เป็นต้น
            เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ที่สำคัญๆได้แก่ ทับ รำมะนา กลอง โหม่ง ฆ้องคู่ กลองชาตรี กรือโต๊ะ  รือบับ เป็นต้น


คุณค่าและความสำคัญของเครื่องดนตรี

        ต่อไปเรามารู้จักคุณค่าและความสำคัญของเครื่องดนตรีกันเลยค่ะ

          ดนตรีเป็นงานศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยใช้เสียงเป็นสื่อในการถ่ายทอดออกมาเป็นลีลา ทำนอง อารมณ์ของเพลงดำเนินไปตามจินตนาการของนักประพันธ์เพลง ดนตรีนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ในการปรุงแต่งชีวิตให้มีความสุข ผ่อนคลายความโศกเศร้า เป็นสื่อเสริมแต่งให้กิจกรรมทางประเพณีและพิธีกรรมที่มนุษย์ประกอบขึ้นนั้นเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในสังคมและวัฒนธรรมไทย ดนตรีไทยเป็นงานศิลปะที่บ่งบอกให้รู้ถึงความเป็นชาติ คุณค่าของดนตรีไทยพิจารณาได้จากบทเพลงที่นักประพันธ์เพลงประพันธ์ขึ้น มีท่วงทำนองตามโครงสร้างของระบบเสียง มีเนื้อร้องที่แต่งด้วยร้อยกรองอย่างสละสลวย มีนักดนตรีทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลงโดยใช้ระเบียบวิธีบรรเลงเครื่องดนตรีซึ่งมีลักษณะหลากหลาย มีวิธีการขับร้องที่กลมกลืนกันและมีเครื่องดนตรีซึ่งมีรูปแบบเฉพาะ สวยงาม ได้สัดส่วน

          ดนตรีไทยมีความสำคัญและมีความหมายต่อบุคคลในการพัฒนาคุณภาพจิตใจ เป็นสื่อกลางของกิจกรรมทางประเพณี ศาสนา ศิลปะการแสดงและเป็นสื่อทางสังคมที่ช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชาติ สร้างพลังทางสังคม รวมทั้งมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันต่างๆของประเทศด้วย  เช่น สถาบันทางการเมือง การปกครอง การทหาร เป็นต้น

          ดนตรีไทย เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้สร้างสรรค์ทั้งรูปแบบของบทเพลง เครื่องดนตรี วิธีบรรเลง วิธีขับร้อง และการนำมาใช้ในโอกาสต่างๆอย่างเหมาะสม นอกจากดนตรีไทยจะมีความสำคัญในด้านการปรุงแต่งอารมณ์ ความรู้สึก การประกอบกิจกรรมตามความเชื่อและพิธีกรรม โดยการเข้าไปปรุงแต่งให้งานหรือพิธีกรรมนั้นเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นแล้ว ดนตรีไทยยังมีคุณค่าต่อพัฒนาการของร่างกายและจิตใจด้วย

          ในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคกลาง วงปี่พาทย์แบบต่างๆ เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมมีวงเครื่องสาย วงมโหรี เป็นเครื่องบันเทิงเริงใจ ภาคเหนือมีวงดนตรีพื้นบ้านล้านนา ภาคอีสานมีวงดนตรีพื้นบ้านอีสานหลายลักษณะ และภาคใต้มีวงดนตรีพื้นบ้าน ทำหน้าที่บรรเลงในงานพิธีกรรม และประกอบการแสดง
ซึ่งลักษณะเช่นนี้ มีส่วนทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกรักมรดกวัฒนธรรมดนตรี เกิดความตระหนักรู้ และเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยร่วมกัน

การดูแลรักษา

        เรามารู้จักวิธีการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยกันเลยค่ะ

ตัวอย่างการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยบางประเภท

        ๑. จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด ที่ได้ดัดแปลงแก้ไขและพัฒนาการมาจากพิณโดยได้ประดิษฐ์ให้นั่งดีดได้อย่างสะดวก   การดูแลรักษาทำได้โดยการเก็บไม้ดีดจะเข้ไว้ในที่ที่กำหนด ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดและจัดวางให้เป็นระเบียบในที่ร่มเพื่อป้องกันมิให้ถูกแสงแดด น้ำ หรือได้รับความชื้น

        ๒. ซอด้วงและซออู้ การดูแลรักษาทำได้โดยบิดลูกบิดซอเล็กน้อยเพื่อลดสาย เลื่อนหย่องหรือหมอนไว้ตอนบนของหน้ากะโหลกซอ แล้วแขวนเก็บคันชักให้แนบกับคันทวนซอ จัดวางไว้บนชั้นหรือใส่ตู้ หรือแขวนเรียงให้เป็นระเบียบ

       ๓. ระนาดเอกและระนาดทุ้ม  การดูแลรักษาทำได้โดยปลดเชือกที่ร้อยผืนระนาดลงหนึ่งข้าง เพื่อลดน้ำหนักมิให้ตะขอหลุดง่าย   หรือมิให้ผืนระนาดหย่อนหรือขาด เก็บไม้ตีระนาดไว้ในรางหรือนำไปวางในที่ที่กำหนดไว้ จัดวางระนาดให้เป็นระเบียบ

        ๔. กลองแขกและโทนรำมะนา  การดูแลรักษาทำได้โดยนำไปเก็บในที่ที่กำหนดอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ระวังมิให้ถูกน้ำ ความชื้น และแสงแดด

        ๕. ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลีบ  การดูแลรักษาทำได้โดยเก็บไว้ในที่ที่กำหนด วางอย่างเป็นระเบียบ หรือแขวนในที่ที่กำหนดหรือเก็บใส่ถุง ควรระวังมิให้ขลุ่ยได้รับความร้อนจากแสงแดดและผงฝุ่น


การแสดงเครื่องดนตรีไทย

        เรามาชมกันเลยนะค่ะการแสดงเครื่องดนตรีไทยที่น่าสนใจและไพเราะมากค่ะ